วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เพลงบำบัดจิต




ความหมายของดนตรีบำบัด (Music Therapy)
            ดนตรีเพื่อสุขภาพและบำบัด หมายถึง การนำดนตรีและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ทั้งทางกาย และทางจิต เป็นวิธีการประยุกต์ดนตรีไปใช้ในการบำบัดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้อยู่ในสภาวะปกติ ดนตรีบำบัดเป็นศาสตร์การแพทย์ทางเลือกอีกวิธีหนึ่งที่ปัจจุบันมีผู้หันมาให้ความสนใจกันมาก ซึ่งความจริงการนำดนตรีมาใช้ในการบำบัดรักษา เป็นวิธีที่มนุษย์ใช้มานานแล้ว ซึ่งอยู่ในรูปแบบของพิธีกรรม และความเชื่อ 
    
เสียงดนตรีส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ
          ดนตรีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และการทำงานของสมองในหลาย ๆ ด้าน จากการศึกษาวิจัยพบว่าผลของดนตรีต่อร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการ
หายใจ, อัตราการเต้นของชีพจร, ความดันโลหิต, การตอบสนองของม่านตา, ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการไหลเวียนของเลือด จึงมีการนำดนตรีมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคภัยไข้ เจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ เรียกกันว่าดนตรีบำบัด (music therapy)
          ประโยชน์ของดนตรีบำบัดมีหลายประการ เช่น ช่วยปรับสภาพจิตใจ ให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีมุมมองในเชิงบวก ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล กระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และความจำ กระตุ้นประสาทสัมผัส การรับรู้ เสริมสร้างสมาธิ พัฒนาทักษะสังคม พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ลดความตึงตัว ของกล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สร้างสัมพันธภาพที่ดีในการบำบัดรักษาต่าง ๆ และช่วยเสริมในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช ทั้งในด้านการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก การควบคุมตนเอง การแก้ปมขัดแย้งต่าง ๆ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวมันดีต่อร่างกายตรงที่ว่าทำให้ร่างกายผ่อนคลาย    


ดนตรีสามารถนำมาบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง

1.ดนตรีช่วยบำบัดรักษาคนพิการ ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
         มีการนำดนตรีมาช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ โดยใช้ดนตรีเข้ามากระตุ้นให้เกิดกำลังใจและกำลังกาย เช่น กรณีของผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งการนำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยนั้นไม่ได้ทำให้เพื่อให้หายขาดจากโรค       


         แต่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ โดยเสริมกับการรักษาของแพทย์และยาควบคู่ไปด้วยกัน การให้ผู้ป่วยได้เล่นเครื่องดนตรี ได้เคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ ไปตามจังหวะดนตรี เช่น การได้ขยับแข้งขา ได้หมุนข้อมือและข้อศอก ได้งอและเหยียดมือ การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อได้ออกแรง เคลื่อนไหว ยืดและหด จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงได้มากขึ้น เมื่อร่างกายใช้งานได้มากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจที่จะต้อสู้กับความเจ็บป่วยได้ดีขึ้นตามไปด้วย
   

    
2.ดนตรีช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ร่างกายได้รับการบาดเจ็บ
       ในกรณีที่ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุจนร่างกายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ การให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมดนตรีบำบัดจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ โดยการฟังเพลงบรรเลงที่มีทำนองช้าเบาสบาย ที่มีเสียงธรรมชาติประกอบ เช่น เสียงนกร้องเบาๆ เสียงฝนหรือน้ำไหลเบาๆ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย มีจินตนาการไปตามเสียงดนตรี ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยลดความเจ็บปวดและลดความวิตกกังวลลงได้
       
3.ดนตรีช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง 
       เป็นที่ทราบกันว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งมักจะมีอาการเจ็บปวดร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งนอกจากจะเจ็บปวดทางด้านร่างกายมากแล้วยังต้องเผชิญกับความเครียดเป็นอย่างมากอีกด้วย ซึ่งมีงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวกับการนำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ดังนี้


       - Zimmermanและคณะ (1989) พบว่า ดนตรีสามารถช่วยลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งได้  
       - Beck (1991) ศึกษาถึงผลของประเภทดนตรีที่ผู้ป่วยชอบต่อระดับความปวดในผู้ป่วยมะเร็ง โดยให้กลุ่มตัวอย่างเลือกฟังเพลงที่ชอบประเภทผ่อนคลาย 7 ชนิด เช่น เพลงคลาสสิก, แจ๊ส, ร็อก โดยให้เปิดฟังวันละ 2 ครั้งๆ ละนาน 45 นาที เป็นเวลา 3 วัน จากผลการศึกษาพบว่า ความเจ็บปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
       - วัลลภา สังฆโสภณ (1993) ศึกษาถึงผลของดนตรีต่อความปวดและทุกข์ทรมานในผู้ป่วยมะเร็ง จากผลการศึกษาพบว่า เมื่อผู้ป่วยได้ฟังดนตรีจะมีความปวดและทุกข์ทรมานน้อยกว่าขณะไม่ได้ฟังดนตรีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
       - Smith M และคณะ (2001) ศึกษาถึงผลของดนตรีต่อการลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งในระหว่างการฉายรังสีรักษาพบว่า มีแนวโน้มว่าดนตรีมีส่วนช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยลงได้
       
4.ดนตรีช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตประสาทหรือผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
       ปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้ในการบำบัดและปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยทางจิตประสาทมากขึ้น เพราะดนตรีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและอารมณ์โดยตรง ดังนั้น การให้ผู้ป่วยทางจิตประสาทได้ทำกิจกรรมดนตรี จะช่วยทำให้อาการป่วยดีขึ้นได้ โดยผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรง สามารถ

บำบัดได้ด้วยการให้ฟังเพลงบรรเลงที่มีทำนองและจังหวะช้าๆ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ใจเย็น และลดความก้าวร้าวลงได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมซึมเศร้า เครียด เก็บตัว สามารถบำบัดได้ด้วยการให้ฟังเพลงบรรเลงที่มีทำนองและจังหวะร่าเริงแจ่มใส ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีขึ้นและรู้สึกผ่อนคลายความเครียดมากขึ้น 
          
          นอกจากนี้ การให้ผู้ป่วยได้เล่นเครื่องดนตรี เช่น ขลุ่ย กีตาร์ คีย์บอร์ด ก็ยังช่วยให้ผู้ป่วยได้แสดงออกทางด้านอารมณ์ผ่านทางการเล่นดนตรี ซึ่งเป็นการผ่อนคลายความเครียดและช่วยทำให้ผู้ป่วยมองโลกในแง่ดี และมีอารมณ์ดี จึงส่งผลให้ผู้ป่วยทางด้านจิตประสาทซึ่งมีปัญหาทางด้านอารมณ์โดยตรงมีอาการดีขึ้นจนถึงขั้นหายป่วยได้ในที่สุด





ที่มา : http://www.manager.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น